เฮียแก่เล็ก และงานหาดทราย ๑

เฮียแก่เล็ก และงานหาดทรายโพธาราม ๑

 

           คนเก่าๆของตำบลเจ็ดเสมียน หรือของตลาดเจ็ดเสมียนนั้น ยังมีอีกหลายท่าน ที่ยังไม่ได้เสนอต่อท่านผู้อ่าน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และที่ได้ล่วงลับไปแล้ว แต่ก็มีหลายท่านที่ได้เสนอไปบ้างแล้ว ละเอียดมั่งและไม่ละอียดมั่ง ตามแต่จะมีข้อมูล  อย่างคนดังๆที่สุดของเจ็ดเสมียนนั้น คือกำนันโกวิท วงศ์ยะรา ก็ได้เสนอไปแล้วหลายตอน ล่าสุดนี้ได้เสนอเรื่องของเจ๊กวย และในตอนต่อไปนี้จะขอเสนอเรื่องของคนๆ หนึ่งซึ่งผมได้เกี่ยวข้อง และรู้จักเขาดีพอสมควรในตอนเป็นเด็กๆ เกิดที่เจ็ดเสมียนนี้ และในตอนนี้ก็ยังอยู่ที่เจ็ดเสมียน เขาคนนั้นคือ...

          เฮียแก่เล็ก หรือ นายพิศิษฐ์ ชื่นณรงค์  อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ ของตำบลเจ็ดเสมียน ผมผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่า การจะเสนอเรื่อง หรือชีวประวัติ ของใครสักคนหนึ่งของผมนั้น ผมจะขอเสนอเท่าที่ผมได้ไปเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น ส่วนประวัติอย่างละเอียดของเขานั้น ผมจะไม่นำมากล่าว  เพราะว่าผมไม่สามารถหาข้อมูลมาเสนอให้ท่านได้ จึงขอเรียนมาให้ท่านผู้อ่าน ที่ติดตามเรื่องของผมตลอดมา ทราบตามนี้ด้วย

alt

นายพิศิษฐ์ ชื่นณรงค์ (เฮียแก่เล็ก)

 

          เฮียแก่เล็กนั้นตั้งแต่ผมรู้ความ ผมก็เห็นเฮียแก่เล็กอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนแล้ว เพราะว่าเฮียแก่เล็ก มีอายุแก่กว่าพวกผม ประมาณ ๖ ปี เป็นคน โอบอ้อมอารี แก่เด็กๆตลาดเจ็ดเสมียนทุกๆรุ่นเสมอ ถึงแม้ว่าอายุแกจะมากกว่าพวกผมหลายปี แต่แกก็ทำตัวเป็นเพื่อนอยู่กับพวกผมได้ บางครั้งถ้ามีปัญหาอะไร แกก็จะทำตัวเป็นหัวโจกคอยดูแลพวกผม และคอยเคลียร์ปัญหาต่างๆให้เสมอ  เฮียแก่เล็กอายุมากกว่าพวกผมหลายปีก็จริง แต่แกเข้าโรงเรียนช้า จึงอยู่ชั้นเดียวกับผม ตลอดมา
         ก่อนจะจบชั้น ป. ๔ ออกมานั้น ประมาณปลายเดือน ธันวาคม ที่โรงเรียนของเราจะมีการฝึกเดินทางไกลของลูกเสือ ในขณะนั้นผมก็ลืมไปแล้วว่า กำลังเรียนลูกเสืออยู่ชั้นอะไร เป็นลูกเสือ สำรอง หรือลูกเสือ ชั้นตรี โท หรือ เอก จำไม่ได้แล้ว แต่คงเป็นแค่ลูกเสือสำรองเสียมากกว่าเพราะว่ายังเด็กๆกันอยู่ การฝึกเดินทางไกลในวันนั้น ทางโรงเรียนกำหนดว่าจะต้องเดินไปจนถึงคลองบ้านใหม่ แล้วก็เดินกลับไปในวันเดียวกัน         

         เมื่อทางโรงเรียนกำหนดวันกันเรียบร้อยแล้ว ผมพร้อมด้วยเด็กที่อยู่ตลาดรุ่นเดียวกัน รวมทั้งเฮียแก่เล็กด้วย ก็เตรียมตัวกันตั้งแต่เช้ามืดของวันนั้น แต่งตัวชุดลูกเสือเสียเต็มยศ (แต่จะให้ผมบอกว่าแต่งอย่างไร ผมบอกไม่ได้เพราะว่าผมลืมไปแล้วครับ) ใครมีเป้ใส่ของกิน ข้าวและกับข้าว หยูกยาต่างๆก็ใส่เป้แล้วตะพายหลังไป ส่วนกระติกน้ำนั้นต้องมีกันทุกคน เผื่อกลางทางหิวน้ำแล้วจะได้ไม่ต้องไปขอใคร มีของห้อยพะรุงพะรังอย่างนี้ก็ดูมันโก้ดี  ยังกับว่าไปพักแรมกันหลายวันอย่างนั้นแหละ แล้วทุกคนที่ต้องไปเดินทางไกลกัน ในวันนี้ทั้งหมด ต้องไปรวมตัวกันที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน ประมาณ ๖ โมงเช้า โดยมีครูประวิทย์ ครูเทียน และครูอื่นๆอีกหลายคนจะเป็นผู้ควบคุมไปด้วย

alt

คนนั่งตีกลองสองหน้าอยู่นั่นแหละครับคือครูประวิทย์ ไทยแช่ม ที่เป็นครูประจำชั้นของพวกผม แกทั้งดุ ทั้งโหด ทั้งฮา เวลาอารมณ์ดีๆ แกก็จะเล่าเรื่องการผจญภัย และความเก่งกาจของแกให้พวกผมฟังเสมอ แกมีศิลปะในการเล่า ทำให้นักเรียนทั้งห้องฟังแกเงียบกริบไปตามๆกัน น่าเสียดายที่แกอายุไม่มากนัก มาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เสียชีวิตไปในเวลาอันไม่สมควร ครูประวิทย์ มีลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อว่าติ๋ม เป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลโพธารามนี่เอง เป็นเพื่อนสนิทกับน้องสาวผม ปัจจุบันนี้ อายุคง กว่า ๕๐ ไปแล้ว

และผู้ที่นั่ง สีซอ อยู่ใกล้ป้ายนั้น คือ ครูเทียน นักดนตรีครับ

 

         การเดินทางไกลของลูกเสือ      โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนในครั้งนั้น ออกเดินทางกันไปแต่เช้าตรู่ เดินกันไปเป็นแถวเป็นกลุ่มๆ พวกเราเดินผ่านวัดสนามชัยกันเป็นวัดแรก เดินกันไปคุยกันไป ลั่นไปตลอดทาง คุณครูที่เดินคุมอยู่ก็ไม่ได้ว่าอะไร พอผ่านวัดตึกไปได้สักหน่อย คุณครูประวิทย์ก็สั่งให้หยุดพักเหนื่อยชั่วคราว เพราะว่าจากวัดเจ็ดเสมียนถึงวัดตึกนั้นประมาณ เกือบ ๒ กิโลเมตร
         เฮียแก่เล็กซึ่งเดินอยู่หัวแถว เพราะเป็นเด็กตัวโตว่าคนอื่นๆ ย้อนมาถามพวกผมว่า เป็นไงเหนื่อยกันหรือเปล่า มีอะไรจะให้ช่วยก็บอกกันได้นะ ดูท่าทางเฮียแก่เล็กก็เป็นห่วงพวกผมดีอยู่ และเฮียแก่เล็กก็ทำตัวเหมือนเป็นผู้ช่วยครูอีกคนหนึ่ง ในวันนั้นกว่าจะถึงคลองข่อยก็เกือบเพลแล้ว  การเดินทางในครั้งนี้นับว่าช้ามาก เพราะเหตุว่า ไปกันในคนหมู่มากอย่างนี้ ต้องรอกัน บางคนก็อ่อนแอ ทำท่าจะไปไม่ไหว ก็ต้องมาคอยปฐมพยาบาลกัน รอกันอย่างทุลักทุเล สำหรับตัวผมเองนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก เพราะว่าเมื่อตอนอยู่บ้านก็เที่ยวยิงนก ตกปลา และบางทีก็ไปเตะบอลหน้าโรงเรียน กันเสมอๆ ได้ออกกำลังกายกันบ่อยๆ การเดินทางไกลของลูกเสือในครั้งนี้จึงไม่เหนื่อยเท่าไร และโดยธรรมชาติแล้วผมไม่ใช่คนอ่อนแอมากนัก
       

         ครูผู้ควบคุมเห็นว่า ลูกเสือทั้งหลายคงจะได้เวลากินข้าวกันแล้ว จึงตกลงกินข้าวเพลกันที่แถวๆหลังตลาดคลองข่อยนี้เสียเลย  ลุกเสือทุกคนจึงได้ควักเอาข้าวห่อ ข้าวกล่องที่ติดตัวมาทุกคน เอาออกมานั่งล้อมวงกินกัน พวกใครพวกมัน เสียงเอะอะวุ่นวายกันดังลั่น มีครูผู้ควบคุมเดินไปมาดูความเรียบร้อยตลอดเวลา  พวกของผมก็มีเพื่อนๆผมหลายคนรวมทั้งเฮียแก่เล็กด้วย แม่ของผมผัดหมูกับผักคะน้าราดข้าว ใส่น้ำปลามาให้พร้อม ห่อเบ้อเร่อ ให้ผมติดตัวมาด้วย เฮียแก่เล็กบอกว่า ใครที่เอาข้าวมาไม่พอกิน ให้มาเอาที่เขามากินบ้างก็ได้ เพราะว่าเฮียแก่เล็กเอาข้าวและกับข้าวมาสองสามอย่าง แน่นเป้ตะพายหลังไปหมด

         แถมมีกระติกน้ำลูกใหญ่กว่าของคนอื่นเอามาคอยบริการด้วย ว่าแล้ว แกก็เอาห่อข้าวและกับข้าวนั้นแก้มัดห่อออก ผมเห็นกับข้าวที่แป๊ะอู๋ เตี่ยของเฮียแกเล็กทำมาให้เฮียแก่เล็กเอามานั้น มีแต่ของที่น่ากินทั้งนั้น โดยเฉพาะมีไข่ยัดไส้หมูสับ กับหอมหัวใหญ่และมะเขือเทศห่อใหญ่ พวกเรากำลังหิวข้าวกันอย่างนี้อดที่จะอยากกินไม่ได้ ต่างคนต่างก็รีบล้อมวงกันเข้ามาหาเฮียแก่เล็ก แล้วก็ร่วมวงกินกันอย่างเอร็ดอร่อย ครูประวิทย์ ไทยแช่มเดินตรวจดูความเรียบร้ยของเด็กๆลูกเสือ มาถึงวงผมที่กินข้าวกันอยู่ บอกว่าอย่ากินให้มากเกินปกติไปนัก ประเดี๋ยวจะจุกแล้วเดินไม่ไหว
          กินข้าวกันเรียบร้อยหมดแล้วเมื่อได้เวลาครูประวิทย์ก็เป่านกหวีดให้สัญญาณ ในการเตรียมตัวเดินทางต่อไป มีเด็กบางคนกินเสร็จแล้ว ก็เอนกายพักที่โคนต้นไม้ ลมเย็นๆ เลยเผลอหลับไปเสียนี่ หัวที่หนุนกับโคนต้นไม้เอียงไพล่ลงมา น้ำลายไหลยืด ต้องปลุกกันยกใหญ่ คนที่หลับแล้วถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาแล้วนี้ บอกว่า นึกว่านอนอยู่บ้านเสียอีก บางคนกินข้าวเสร็จแล้ว จะถึงเวลาเดินทาง  บอกครูเทียนว่ารอผมหน่อยนะ ผมปวดปัสสาวะขอไปปัสสาวะหน่อย ครูเทียนก็บ่นว่า ตั้งนานก็ไม่ปัสสาวะให้มันเสร็จๆไปเสียก่อน เอ้า ไปก็ไป เร็วหน่อยเพื่อนรอ

         ครูเทียนก็กำชับอย่างนี้ เจ้านั่นก็วิ่งผลุนผลันเข้าไปในดงเสือหมอบ มองเห็นมันถอดเข็มขัดเหมือนจะยืนฉี่ ประเดี๋ยวเดียวก็หายไปในดงเสือหมอบนั้น  ครูก็รอมันเป็นนาน ยังไม่ออกมาสักที หรือว่ามันโดนงูเห่ากัดตายแล้วก็ไม่รู้ ครูเทียนขยับจะเข้าไปตาม มันก็โผล่ออกมาพอดี เดินยิ้มเผล่ออกมา ครูเทียนฉุนนิดๆ แล้วถามว่า แค่ไปปัสสาวะทำไมนานจริง เพื่อนๆรออยู่จะแย่แล้ว เด็กคนนั้นจึงตอบว่า "ผมเห็นว่าไปเยี่ยวทั้งที เลยขี้มันซะเลย มันจะได้ไม่เสียเที่ยว" พวกผมได้ยินแล้วหัวเราะกันครืน เออ...! อย่างนี้ก็มีด้วย

          ในครั้งแรกนั้น ในหมายกำหนดการ การเดินทางไกลของลูกเสือนั้นจะต้องเดินไปถึง คลองบ้านใหม่ ซึ่งอยู่ใกล้วัดโชค  ซึ่งเป็นโรงเรียนทอผ้า แต่ครูประวิทย์เห็นว่าถ้าเดินกันถึงตรงนั้นจริงๆแล้ว นักเรียนลูกเสือเหล่านี้ คงจะเหนื่อยกันแย่ และคงจะกลับเจ็ดเสมียนไม่ทันในตอนเย็นเป็นแน่ จึงได้กำหนดกันใหม่ ให้เดินกันเพียงแค่วัดประสาทเท่านั้น  วัดประสาทนั้นถ้าคิดจากเจ็ดเสมียนแล้วก็ไกลไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ยังต้องเดินต่อจากคลองข่อยที่เราพักกินข้าวกันอยู่นี้อีกสักพักหนึ่ง
          เมื่อถึงวัดประสาทแล้ว ก็เป็นเวลาเกือบบ่ายโมง ครูประวิทย์ได้สั่งให้พักผ่อนอีกชั่วโมงหนึ่ง ในระหว่างที่พักกันอยู่นั้น ครูทุกคนที่เป็นผู้ควบคุมเด็กๆลูกเสือเหล่านี้มา ก็มารวมตัวกัน แล้วครูประวิทย์ก็เริ่มอบรมในวิชาลูกเสือต่างๆ บางครั้งครูประวิทย์ก็พูดขำๆ ให้พวกเราหัวเราะกันงอหาย แต่บางทีก็เคร่งขรึมเอาจริงเอาจังจนดูน่ากลัวไปทีเดียว
         เกือบๆบ่ายสองโมง คณะลูกเสือของโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน  ก็ได้รับคำสั่งให้เข้าแถว สำรวจดูความเรียบร้อย และนับจำนวนดูว่าครบถ้วนเหมือนตอนขามาหรือไม่  ในตอนนี้ก็มีพ่อแม่และผู้ปกครองของเด็กบางคน ได้ถีบรถจักรยานมา เพื่อรอรับลูกเสือ ที่เป็นลูกหลาน เพราะว่าครูประวิทย์ได้บอกผู้ปกครองทุกคนก่อนจะเดินทางไกลในครั้งนี้ว่า ในตอนขากลับนั้นให้ มารับโดยการนั่งรถกลับไปได้  แต่ใครจะสมัครใจเดินกลับเหมือนขามาก็จะดีมาก เพราะจะแสดงให้รู้ว่าเราก็แข็งแรงพอสมควร และมีน้ำอดน้ำทนไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครๆ

         มีพ่อแม่ผู้ปกครองมารับลูกหลานโดยขี่รถจักรยานไปหลายคน รวมทั้ง เฮียแก่ใหญ่ พี่ชายเฮียแก่เล็กด้วย ผมเห็นเฮียแก่ใหญ่แกยืนคุยกับเฮียแก่เล็ก แต่ผมไม่ได้ยินอะไรเพราะอยู่ห่างกัน ผมเห็นเฮียแก่เล็กแกสั่นหน้า พร้อมกับชี้มือมาทางพวกผม  ก็เป็นอันว่า เฮียแก่เล็กคงจะสมัครใจเดินกลับกับพวกผมแน่นอน
         เฮียแก่เล็กเดินเข้ามาหาพวกผมแล้วว่า เตี่ยเราให้แก่ใหญ่ถีบจักรยานมารับเรา แต่เราไม่ได้ไปหรอก ให้เขากลับไปก่อนแล้ว เรามาด้วยกันเราก็กลับด้วยกันนะ พวกเราไม่ทิ้งกัน แล้วเฮียแก่เล็กก็ยืดอก ทำเป็นมีน้ำใจสปอร์ตกับเพื่อนฝูง แต่จริงๆแล้วเฮียแก่เล็กก็เป็นคนมีน้ำใจกับเพื่อนๆทุกคนจริงๆ  ตามสายตาของผม
          อีกสักครู่หนึ่งครูประวิทย์ ก็ให้สัญญาณออกเดินทางกลับ ขากลับนี้แม้ว่าพวกเราจะล้าๆกันไปบ้าง แต่ก็ยังเบาลงไปบ้าง เนื่องจากเสบียงที่เอาติดตัวมา เช่นกระติกน้ำ และห่อข้าวก็ได้เอาออกมากินไปหมดแล้ว เมื่อออกจากวัดประสาทได้หน่อยหนึ่งก็เข้าเขต คลองข่อย และได้ผ่านวัดต่างๆอีก ๒ -  ๓ วัด แล้วจึงทะลุออกมาถึงวัดตึก 

         ที่วัดตึกนี้ ก็อยู่ริมน้ำแม่กลองเหมือนกับวัดสนามชัย และวัดเจ็ดเสมียนเหมือนกัน  ผมเคยเดินมาทีวัดตึกนี้จนชินเสียแล้ว เพราะว่าต้นตระกูลของไอ้เหม่ง มันอยู่ที่วัดบางโตนด เวลาพวกเราจะไปที่บ้าน ย่าของไอ้เหม่ง เราก็จะมาข้ามเรือที่ท่าวัดตึกนี้ พอข้ามเรือที่ท่าวัดตึกนี้แล้ว ถึงฝั่งตรงข้ามขึ้นจากเรือแล้ว ต้องเดินขึ้นเหนือไปอีกสักพักหนึ่งก็จะถึงบ้านย่า ของไอ้เหม่ง (ขอพักเรื่องบ้านย่าของไอ้เหม่งไว้ก่อน จะมาเล่าในภายหลัง)

ขากลับนี้พวกเราเดินกันอย่างไมรีบร้อนอะไร เดินไปพักไป เพราะอ่อนล้ากันมากแล้ว มาถึงสนามโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนเอา เกือบ๖ โมงเย็น ครูประวิทย์สั่งให้นั่งพักก่อน  รอพวกข้างหลังที่ยังมาไม่ถึง กลุ่มที่ครูเทียนคุมมานั้น เพิ่งกำลังจะเข้าสนามมา เมื่อมาถึงครบถ้วนกันแล้ว ครูประวิทย์ก็อบรมลูกเสือเหล่านี้อีกพักหนึ่ง จึงได้ปล่อยกลับบ้านไป การเดินทางไกลครั้งนี้เฮียแก่เล็ก ก็ทำตัวเป็นพี่เลี้ยงของพวกเราตลอด คอยถามพวกเราเสมอว่ามีอะไรให้ช่วยเหลือบ้าง บาดเจ็บตรงไหนหรือเปล่า ใครถึงกับปวดขา เฮียแก่เล็กก็มียาหม่องมาทาให้ด้วย นับว่าได้รับความเอาใจใส่จากเฮียแก่เล็กเป็นอย่างดี
         การเดินทางไกลของลูกเสือ ในครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดี ทำให้พวกผมมีความอดทน และเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  แม้ว่าเป็นการเดินทางไกลเฉยๆ ก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี

         นี่แหละเฮียแก่เล็ก ที่อายุมากกว่าพวกผม แต่เรียนชั้นเดียวกัน และทำตัวเป็นลูกพี่พวกผมในระยะหนึ่งที่เจ็ดเสมียนแห่งนี้ เรื่องการเดินทางไกลในคราวนี้นั้นเป็นตัวอย่างเล็กน้อยของพวกผมเด็กเจ็ดเสมียนและเฮียแก่เล็กที่เกี่ยวข้องกันกับพวกผมเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายเกี่ยวกับเฮียแก่เล็กกับพวกผมนี้ เช่นเรื่องการไปแข่งขันกีฬานักเรียนประจำปี ของโรงเรียนประชาบาลในอำเภอโพธาราม ที่สนามโรงเรียน ทอผ้าวัดโชค โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนของเรา ก็เข้าแข่งขันด้วย พวกเราชั้น ป. ๔  นักกีฬา ของโรงเรียนต้องมาเข้าค่ายฝึกซ้อม มากินมานอนกันที่โรงเรียน ทั้งนักกีฬาชาย และหญิง หลายวันหลายคืน โดยมีครูประวิทย์ ไทยแช่ม เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน และควบคุม เป็นเวลาหลายวัน มีความสนุกสนานเป็นยิ่งนัก การเดินทางไปแข่งขันกีฬานักเรียนประชาบาลที่วัดโชคนั้น พวกเราไปทางเรือ นักกีฬาทั้งหลาย ขึ้นเรื้อเอี้ยมจุ๊น ลำใหญ่ของโรงสี แล้วให้เรือลากจูงไป ครึกครื้นเป็นยิ่งนัก แต่เรื่องทั้งหลายของเฮียแก่เล็ก กับพวกผมนั้น จะขอเสนอเป็นเรื่องๆไป

 

 

alt

 

        

เฮียแก่เล็ก (นายพิศิษฐ์ ชื่นณรงค์ ) ซ้าย ภาพในปัจจุบันนี้

(patipat ถ่ายภาพ ๕ เม.ย. ๒๕๕๒)

 

 

         งานหาดทรายที่โพธารามซึ่งเป็นงานประจำปีของ อำเภอโพธาราม ตั้งแต่ครั้งโบราณนมนานกาเลมาแล้ว ในปีนี้ก็ได้หมดลงไปหลายวันแล้ว (วันที่ ๙ – ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)   งานหาดทรายโพธารามนี้ผมไม่ได้มาเที่ยวเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ผมได้ยินข่าวบ่อยๆเหมือนกันว่า ในปัจจุบันนี้ที่โพธารามไม่มีหาดทรายแล้ว ทางเทศบาลได้เทคอนกรีต ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นทรายนั้น เดี๋ยวนี้เป็นพื้นปูนหมดแล้ว ดังนั้นชื่อของงานประจำปีที่ โพธารามนี้ ก็ไม่ควรมีคำว่าหาดทราย เพราะว่ามันไม่มีหาดแล้ว ถ้าจะจัดงานให้ดำรงคงอยู่ต่อไป ก็ใช้ชื่อให้เหมาะสมเสียหน่อย จะใช้ชื่อว่า งานงิ้วประจำปี โพธารามก็ยังได้ หรือจะชื่ออะไรคณะกรรมการก็ควรมาประชุมกัน ช่วยกันออกความคิดเห็น หลายๆคนก็คงจะได้ชื่อที่ดีไปเองนั่นแหละครับ
        แต่คิดไปอีกที ทางคณะกรรมการที่จัดงานประจำปีนี้ทุกๆปี คงจะมีเหตุมีผลที่จะใช้ชื่อนี้ให้ดำรงคงอยู่ต่อไป  ถึงแม้ว่าจะไม่มีหาดทรายแล้วก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แล้วแต่ท่านเถอะนะครับ  ผมก็ออกความเห็นของผมไปตามประสาของผม
        

        เมื่อปีที่ผมยังเป็นเด็กที่อยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนั้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ในตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๕ แล้ว และเป็นเด็กค่อนข้างโตพอสมควร เด็กรุ่นผมโดยส่วนใหญ่แล้วจะไปเรียนต่อในชั้นมัธยมกันที่ โพธาราม  ไม่โรงเรียน  โพธาวัฒนาเสนี ก็โรงเรียนราษฎร์บำรุงวิทย์  การเดินทางไปโรงเรียนที่โพธาราม ของพวกเด็กเจ็ดเสมียน  ก็โดยการขึ้นรถไฟ จากสถานีเจ็ดเสมียน ในเที่ยวเช้า เวลาประมาณ เจ็ดโมงครึ่ง เด็กนักเรียนที่จะไปเรียนที่ โพธารามก็จะมา ยืนออกันที่สถานีรถไฟ การเสียค่าโดยสารนั้น พวกผมก็จะซื้อตั๋ว เป็นตั๋วเดือน คือซื้อเหมาเลย ในราคาเดือนละ ๗.๕๐ บาทเท่านั้น วันหนึ่งใช้ได้ ๒ เที่ยวคือขาไปและกลับ ถ้าไม่ได้ซื้อตั๋วเดือนก็ต้องเสียค่ารถ เที่ยวละ ๕๐ สตางค์ ไปกลับก็ ๑.๐๐ บาท
           แต่ก็มีบางคนที่ไม่ได้ไปเรียนที่ โพธาราม ก็เรียนที่โรงเรียน มัธยมวัดสนามชัย ในตอนนั้นเพิ่งจะเปิดสอนมาได้ไม่กี่ปี โดยหลวงพ่อประหยัด เจ้าอาวาสวัดสนามชัยในสมัยนั้น เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น เพื่อจะให้เด็กๆที่ไม่อยากเดินทางไปไกล ถึงโพธาราม ได้มีสถานที่เรียนกัน  โดยเฉพาะตัวผมเอง เมื่อตอนที่กลับมาจากบ้านโป่งแล้ว ก็ได้มาเรียนต่อ ชั้นมัธยมปีที่ ๒ ที่โรงเรียนวัดสนามชัยแห่งนี้  ในตอนแรกๆก็ได้พระที่วัดที่มีความรู้นั่นเอง มาเป็นครู (ปัจจุบันนี้โรงเรียนมัธยมวัดสนามชัย ได้เลิกกิจการไปนานแล้ว ไม่ทราบว่าเพราะสาเหตุอะไร)
          เพื่อนผมก็เรียนที่โรงเรียนนี้จนจบ ม. ๖ ก็มีหลายคน เช่น นายสุรพงษ์  แววทอง , นายอโณทัย ไทยสวัสดิ์ ,นายสุวรรณ วงศ์ยะลา และยังมีรุ่นน้องๆอีกหลายคนที่เรียนที่โรงเรียนนี้ โดยถือว่าใกล้บ้านไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก และสะดวกดี ตามความเห็นของผม ไม่ว่าจะเรียนกันที่โรงเรียนไหน ก็คิดว่าไม่ด้อยกว่ากันเท่าไรหรอกครับ พอโตขึ้นจนถึงในปัจจุบันนี้ ผมก็เห็นว่าได้ดิบได้ดีไปกันแทบทุกคน อย่างเช่น นายสุรพงษ์ แววทอง (ไอ้โห้)  ปัจจุบันนี้เป็นเจ้าของผู้จัดการ อู่ซ่อมรถขนาดใหญ่ “พงษ์ไพโรจน์” อยู่ที่ในตัวจังหวัดราชบุรี หรือ นายอโณทัย ไทยสวัสดิ์ (ไอ้โล) ก็เป็นข้าราชการกรมทางระดับสูง นายสุวรรณ วงศ์ยะรานั้นก็รับราชการเป็นตรวจทางหลวง อยู่ที่ แถวๆบางลาน  ปัจจุบันนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว 
         

        เย็นวันหนึ่งกลางเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๑ ผมกับเพื่อนๆอีกหลายคน ไปเล่นน้ำกันที่ท่าใหญ่ ผมว่ายน้ำเล่นได้สักพักหนึ่ง ผมเห็นเฮียแก่เล็ก กำลังเดินลงมาที่ท่าใหญ่และก็จะมาอาบน้ำด้วยเหมือนกัน เมื่อเฮียแก่เล็กแกผลัดผ้า นุ่งผ้าขาวม้าสำหรับอาบน้ำแล้ว แกก็ลงน้ำแล้วว่ายมาทางที่ผมกำลังเล่นน้ำอยู่ แล้วพูดกับผมว่า เก้ว อีกไม่กี่วันก็งานงิ้วแล้ว เราไปเที่ยวกันดีกว่านะ งานงิ้วนี้ก็หมายความถึงงานหาดทรายประจำปีที่โพธารามนั่นเอง ผมก็บอกว่า ไปก็ไปซีแล้วเฮียแก่เล็กได้ชวนใครไปบ้างหรือยัง เฮียแก่เล็กว่า ยังเลย เรายังไม่ได้ชวนใครเลย มาถามเก้วก่อนถ้าตกลงว่าไปกัน เดี๋ยวจะไปชวนพวก ไอ้ธร ไอ้โล ไปทีหลังก็ได้ แต่ไม่รู้ว่ามันจะไปหรือไม่ ผมก็บอกว่า เฮียแก่เล็กอยากให้ใครไปบ้างก็ชวนเอาเลย แต่ฉันว่าไปกันมากๆไว้แหละดี

         

 

alt

 

ตั้งแต่กองทรายที่เห็นนี้ในภาพนี้ ไปทางขวามือของภาพเข้าไปอีกหลายสิบเมตร นี่แหละคือท่าใหญ่ ที่ในอดีตเป็นสถานที่ใช้อาบน้ำ และซักล้างของคนในตลาดเจ็ดเสมียน อีกทั้งเป็นสถานที่เล่นน้ำของเด็กๆในตลาดเจ็ดเสมียนในอดีตอีกด้วย หน้าน้ำขึ้น น้ำจะไหลเข้าคลองเจ็ดเสมียน แล้วไหลลอดทางรถไฟ ที่สพานดำ ออกไปยังท้องไร่ท้องนา ทำให้น้ำเจิ่งนองท่วมไร่นา ตลาด โรงเรียน วัด โรงสี โรงเลื่อย  และอื่นๆ ทั่วไปหมด

แต่ท่าใหญ่ในปัจจุบันนี้ เท่าที่เห็นในรูป ทำไมมันจึงแคบมากก็ไม่รู้ ทางขวามือนั้นเดิมเป็นทางเข้าบ้านของ ยุฮัว เพื่อนของผมซึ่งไม่แคบเหมือนเดี๋ยวนี้ ทางน้ำเข้าก็เหลือไว้นิดเดียว แล้วเทปูนทับไว้ข้างบนอีกเสียด้วย ผมคิดว่าพื้นที่ของท่าใหญ่ที่เราเด็กเจ็ดเสมียนเคยภูมิใจกันนั้น คงจะไม่เหลือให้เห็นเลยในอีกไม่กี่ปีนี้แน่นอน เพราะว่ามีกองทรายหิน และกองปูนซิเมนต์อยู่ในศาลเจ้า ตรงร่องน้ำนั้นก็ขุดดินเอาไว้แล้ว ไม่ทราบว่าจะทำอะไรกัน ท่าใหญ่คงหมดในเร็ววันนี้เป็นแน่

ภาพเมื่อ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๑

 

         วันนี้ไอ้เหม่งมันไม่ได้ลงมาเล่นน้ำที่ท่าใหญ่ เพราะผมไม่เห็นมัน ผมคิดว่าถ้าไปเที่ยวดูงานกันที่หาดทรายโพธารามแล้ว ควรจะชวนไอ้เหม่ง คู่หูของผมไปด้วย เรื่องการที่จะไปเที่ยวงานหาดทรายที่โพธารามนั้น เฮียแก่เล็กกับผมเคยคุยกันไว้นานแล้ว ว่าจะไปเที่ยวด้วยกันสักทีแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ไป  คงเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจของผมไม่ค่อยดี คือไม่มีสตางค์นั่นเอง
           จริงๆแล้วการที่จะไปเที่ยวงานหาดทรายโพธารามนั้น ถ้าไม่ได้ซื้อของอะไรมามากก็ไม่ต้องมีสตางค์ เยอะๆก็ได้ เพราะว่าการละเล่นต่างๆที่หาดทรายนั้น บางอย่างก็ไม่เก็บค่าผ่านประตู และค่ารถไปกลับคิดแล้ว เพียงบาทเดียวเท่านั้น คือการนั่งรถไฟไปทั้งไปและกลับ มันก็สะดวกดี แต่มีข้อเสียอยู่อีกย่างหนึ่งนั่นคือ การไปเที่ยวงานหาดทรายนี้พวกเราเด็กเจ็ดเสมียนจะต้องอยู่ทั้งคืน ต้องยอมอดนอนกันหน่อย เพราะเมื่อถึงกลางคืนแล้ว ไม่มีรถไฟกลับ จะต้องรอจนกระทั่งถึงเช้าอีกวันหนึ่ง จึงจะมีรถไฟขาล่องกลับบ้านที่เจ็ดเสมียนได้  นอกจากพวกบ้านไหนที่มีรถยนต์ ก็เอารถยนต์ไปกัน แต่ในสมัยนั้นผมก็ไม่เห็นว่าในเจ็ดเสมียนบ้านไหนมีรถยนต์ใช้แล้วเลย 

 

          เฮียแก่เล็กกับผมนั้น อายุแก่กว่ากันหลายปี ประมาณสัก ๖ ปีเห็นจะได้ แต่ผมกับเฮียแก่เล็กนั้นก็เรียนชั้นประถมกันที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนนี้ ชั้นเดียวกัน  เมื่อตอนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ก็จบพร้อมกัน แต่เฮียแก่เล็กไม่ได้ไปเรียนต่อ เพราะว่า แป๊ะอู๋ แกวางตัวให้เฮียแก่เล็ก เป็นทายาทรับงานร้านกาแฟต่อจากแก เฮียแก่เล็กจึงไม่ได้เรียนต่อและทำงานที่ร้านช่วยแป๊ะอู๋ทุกวัน จนกระทั่งแป๊ะอู๋เสียชีวิตไป เอียแก่เล็กจึงได้รับกิจการสืบต่อมา
           ผมคิดถึงย้อนไปเมื่อสมัยที่ผมกับเฮียแก่เล็กยังเป็นนักเรียน เรียนหนังสือกันอยู่ที่โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนนั้น เฮียแก่เล็กแกอายุมากกว่าผมมาก แต่แกเข้าเรียนช้ามากจึงได้มาอยู่ในรุ่นของผม เฮียแก่เล็กแกมีของดีๆมาอวดอยู่เรื่อย ญาติของแกคนหนึ่ง ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อตอนตรุษจีนที่ผ่านมาแล้วนั้น ได้เอาปากกาหมึกแห้งมาฝากให้เฮียแก่เล็ก ด้ามหนึ่ง แกก็เอามาอวดพวกผม ในตอนนั้นปากกาหมึกแห้ง (คือปากกาลูกลื่น ในสมัยนี้) ยังไม่มีแพร่หลายมากนัก คิดว่าในตำบลเจ็ดเสมียน หรือในตลาดเจ็ดเสมียน เฮียแก่เล็กนี่แหละที่มีปากกาหมึกแห้งเป็นคนแรก เมื่อพวกผมได้ดูและลองขีดเส้น เขียนเป็นตัวหนังสือดูกันแล้ว ก็ตื่นเต้นกันใหญ่ เพราะว่าไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน เคยเห็นแต่ปากกาหมึกซึม ที่หมึกเป็นน้ำ และพอหมึกหมดก็เติมหมึกใหม่โดยวิธีการดูดขึ้นมาได้อีก เช่นพวกครูที่โรงเรียนเขาใช้กัน
          งานงิ้วที่หาดทรายโพธารามนั้นเริ่มมาได้หลายวันแล้ว งานงิ้วที่หาดทรายโพธารามนี้ ส่วนใหญ่แล้ว จะมีกันประมาณ ๙ วัน ๙ คืน คืนนี้เป็นคืนที่ ๔ ของงานแล้ว ในตอนสายๆของวันนั้น เฮียแก่เล็กก็มาถามผมอีกว่า คืนนี้เราไปเที่ยวงานหาดทรายกันเลยดีไหม ผมก็ว่า แล้วเฮียแก่เล็กชวนใครไปบ้างหรือยัง เฮียแก่เล็กบอกว่า เนี่ยเดี๋ยวเจอพวกไอ้ธร ไอ้โล จะถามมันเลย  แล้วเตรียมตัว ขึ้นรถเที่ยวบ่ายวันนี้ไปกัน แต่ถ้าไม่มีใครไป เราก็ไปกันสองคนก็ได้เอาไหม ผมพยักหน้าเป็นอันว่าตกลง 
          ผมนึกถึงไอ้เหม่งได้ เพราะว่าเคยชวนมันเอาไว้นานแล้ว และมันรับปากกับผมว่าจะไปด้วยกัน ไอ้เหม่งนั้นผมเคยชวนไปปฏิบัติภาระกิจหลายแห่ง หลายที่แล้ว ไอ้เหม่งก็ยินดีไปกับผมด้วยทุกที่  ผมเจอมันในเช้าวันนั้น เพราะว่าบ้านอยู่ใกล้ๆกัน  ไอ้เหม่งว่าต้องไปขออนุญาตแม่เสียก่อน ถ้าเขาให้ไปจึงจะไปได้ เพราะว่า โพธารามนั้นถ้าจะไปก็ต้องค้างคืนด้วย ไม่รู้ว่าแม่จะเป็นห่วงหรือเปล่า แต่ถ้าอ้างว่า เฮียแก่เล็กก็ไปด้วย แกก็คงยอมให้ไป ผมก็บอกอีกว่า ถ้าแม่ให้ไปแล้ว ก็เตรียมตัวไปกันรถบ่ายวันนี้เลยนะ ไอ้เหม่งมันก็พยักหน้า
          บ่าย ๓ โมงกว่า เกือบ บ่าย ๔ โมง แล้ว พวกผมหลายคน รวมทั้งเฮียแก่เล็กด้วย ก็มาซื้อตั๋วรถไฟที่ช่องขายตั๋วของสถานีรถไฟเจ็ดเสมียน ไปลงที่สถานีโพธาราม ในราคาใบละ ๕๐ สตางค์ เมื่อซื้อตั๋วกันครบหมดทุกคนแล้ว ก็มายืนรอรถไฟกันที่ ชานชลาหน้าสถานี  เดี๋ยวนี้ผมและเพื่อนผมทุกคนไม่ค่อยตื่นเต้นกับการที่จะได้นั่งรถไฟกันแล้ว เพราะว่าทุกวันนี้ก็นั่งรถไฟไปโรงเรียน ไปกลับกันทุกวันอยู่แล้ว  จึงรู้สึกเฉยๆ  ในขณะที่รอรถกันอยู่นั้น นายสถานีเดินผานมาเห็นเฮียแก่เล็ก และพวกผมรอรถไฟกันอยู่ แกถามว่าไปไหนกัน พวกผมตอบว่าไปโพราม
            รถไฟจอดเทียบชานชลาแล้ว พวกเราก็กระโดดขึ้นกันด้วยความชำนาญ  ผมนับดูแล้วในคราวนี้พวกเราไปเที่ยวงานงิ้วกันที่หาดทรายโพธาราม ด้วยกัน ๖ คนเท่านั้น คือ เฮียแก่เล็ก ผม ไอ้เหม่ง  ไอ้อู๊ด ไอ้โห้ และน้องไอ้โห้อีกคนหนึ่ง ชื่อว่า ไอ้ แอด ส่วนพวกที่เฮียแก่เล็กเคยไปชวนไว้ กลับไม่ได้ไปด้วย เช่นไอ้ธร ไอ้โล เป็นต้น  แต่ใครจะไปหรือไม่ไปผมก็ไม่เห็นแปลกอะไร เพราะพวกเราก็คือพวกเดียวกันทั้งนั้น
           คนที่มารอรถไฟที่สถานีนี้ต่างก็ขึ้นรถกันหมดเรียบร้อยแล้ว รถก็เริ่มเคลื่อนขบวน ในขบวนรถเที่ยวนี้ ผู้โดยสารค่อนข้างมาก เพราะเหตุว่าเป็นวันเสาร์ คนคงเดินทางเข้ากรุงเทพฯกันมาก รถขบวนบ่ายนี้จะเข้าปลายทางที่ สถานีบางกอกน้อย ในเวลาประมาณ ๖ โมงเย็นกว่าๆ เท่านั้น
          รถใช้เวลาวิ่งถึงสถานีโพธารามเพียง สิบกว่านาทีเท่านั้น เพราะว่า เจ็ดเสมียน โพธารามนั้น ระยะทางก็ประมาณ ๗ กิโลเมตร รถจอดชานชลาสถานีโพธารามแล้ว ก็ประมาณ ๔ โมงเย็นพอดี พวกเราเดินลงจากสถานีด้านหลัง เดินผ่านตลาด มุ่งตรงไปยังหาดทรายทันที เมื่อถึงริมฝั่ง มองไปข้างหน้าจะเห็น โรงงิ้ว  สองโรง ตั้งอยู่ห่างๆกัน และยังมีที่เขาปลูกเป็นโรงอีกหลายหลัง คงเป็นโรงมหรศพอะไรอีกเป็นแน่  เราเดินคุยกันมาตลอดทาง ได้ยินเรื่องที่มาเที่ยวงานคราวนี้ตั้งใจมาซื้ออะไร หรือมาดูอะไร ไอ้โห้ว่าอยากมาดูการละเล่นต่างๆ เช่นหนัง ลิเกเป็นต้น น้องไอ้โห้ ที่ชื่อว่าไอ้แอดนั้น อยากจะมาซื้อรูปภาพ (ที่เขาพิมพ์เป็นตัว การ์ตูน เหมือนกับพวก ไอ้มดแดง ในสมัยหลังๆ) เป็นแผ่นๆเท่ากับกระดาษ เอ ๔ สมัยนี้ ซื้อมาทั้งแผ่นแล้วมาตัดเป็นรูปได้หลายสิบรูป เอามาเล่นกันตามประสาเด็กๆ
            ส่วนไอ้อู๊ดนั้นก็อยากจะมาดูอะไรไปเรื่อยๆ และก็อยากจะดูงิ้วด้วย เพราะว่านานๆได้ดูที สนุกดี มันว่า เฮียแก่เล็กได้ยินแล้วพูดว่า ใครอยากจะดูอะไรก็เต็มที่เลย เพราะว่าเรามีเวลากันมากมาย จนถึงเช้าวันพรุ่งนี้ พวกเราหยุดยืนที่ริมฝั่งยังไม่ลงไปที่บริเวณงานอีกเป็นเวลานาน เพราะว่าเวลานี้เพิ่งจะ ๕ โมงเย็นกว่านิดหน่อยเท่านั้น มองเห็นภายในบริเวณงาน ยังไม่ค่อยมีคนเดินเลย หน้าหนาวปีนี้ไม่ค่อยหนาวเท่าไรนัก แต่พวกเราก็เตรียมเสื้อกันหนาวมากันคนละตัว เพราะว่าตอนดึกๆน้ำค้างอาจจะแรงก็ได้ .............

alt

นายแก้ว ผู้เขียน

             โปรดติดตามตอนต่อไปในตอน (คลิ๊ก) "เฮียแก่เล็ก และงานหาดทราย ตอนที่ ๒"    

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้442
เมื่อวานนี้485
สัปดาห์นี้2416
เดือนนี้8583
ทั้งหมด1338467

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

1
Online