ไปเที่ยวพม่าตอน 7 พระธาตุอินทร์แขวน (ต่อ)

alt 

พระธาตุอินทร์แขวนตอนบ่ายจะไม่มีคนมากนัก เพราะพื้นกระเบื้องยังร้อนอยู่ ตอนค่ำคนจึงแน่นขนัดไปหมด

 

 

นายซายซายบอกว่า จากจุดนี้ (ที่พวกผมลงจากรถ) เราจะพากันเดินหิ้วสัมภาระของเราที่นำมาด้วยไปอีกไม่ไกลมากนัก แต่ทางเดินนั้นสูงๆต่ำๆ ขึ้นๆลงๆ เล่นเอาหอบไปเหมือนกันกว่าจะมาถึงเชิงบันไดที่จะต้องถอดรองเท้าเดินแล้ว เพราะว่าตรงนั้นเป็นประตูทางขึ้นไปที่ลานใหญ่ของพระธาตุ

จากตรงนี้ผมจะขอเล่าให้ท่านทราบอีกนิดหน่อย จะเป็นที่ๆเราจะต้องเดินเท้าขึ้นไปยังลานพระธาตุ เขาเรียกว่าจุดเดินเท้า หรือจุดที่นั่งเสลี่ยงที่ตรงนี้จะมีคนรับจ้างหามเสลี่ยงให้ท่านนั่ง ค่านั่งเสลี่ยงก็ประมาณ 24,000 จ๊าด หรือประมาณ 800 บาท ผมเข้าใจเอาเองว่าราคานี้เป็นราคา ไป – กลับเขาจะหามท่านถึงบันใดที่มีประตูใหญ่ทางขึ้นพระธาตุเท้านั้นนะครับ

แต่การนั่งเสลี่ยง โดยมีคนแบกหามถึง 4 คนนั้น จะมีปัญหาบ้างเล็กๆน้อยๆ จากคนหามเสลี่ยงเอง จะยกตัวอย่างมาสักปัญหาหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นกับคนที่ไปด้วยกับผม หรือว่าอาจจะเกิดกับหลายๆคนที่เคยนั่งเสลี่ยงมาบ้างแล้ว

คือว่าระหว่างทางที่นั่งเสลี่ยง คนหามก็พยายามให้เราซื้อน้ำอัดลมให้แบบกระป๋อง (ยี่ห้อไหนก็ได้มีขายหลายยี่ห้อ) โดยเขาบอกว่าหิวน้ำ และเหนื่อยมากแล้วเขาก็ทำท่าป้อแป้แบบไหมดแรง ขอกินโค๊กสักกระป๋องเถอะ (พวกนี้พูดไทยได้ดีพอสื่อสารรู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเคยเข้ามาทำงานที่ไทย สักปีสองปีหรือเปล่า )

ถ้าเราไม่ซื้อให้เขาทั้ง 4 คน ก็จะแกล้งเดินแบบเหวี่ยงๆให้หวาดเสียวเล่น แต่พอเราซื้อให้ก็ต้องซื้อให้ทั้ง 4 คน โค๊กราคาประมาณกระป๋องละ 1,000 จ๊าด หรือประมาณ 30 บาท ต้องควักเงินไปซื้อ 4 กระป๋อง (อัตราแลกเงินไม่แน่นอนจึงประมาณเอา )

แต่ที่จริงพวกเขาไม่ได้ดื่มหรอกครับ เขาเก็บซ่อนเอาไว้ไม่ให้เราเห็น แล้วก็จะเอามาแลกคืนที่ร้านค้าที่เขาซื้อนั่นแหละ เราก็ว่าอะไรเขาไม่ได้ เพราะว่าเราให้เงินเขาไปซื้อแล้วนี่ครับ แต่คิดไปอีกทีเขาไม่ต้องทำแบบนี้ก็ได้ พอเขาหามเราเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องให้ทิปเขาอยู่ดี บางทีอาจจะให้มากกว่าค่าน้ำดื่มอัดลม 4 กระป๋องก็ได้

แต่ไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก พวกนี้จะงี่เง่าพอสมควร พอขึ้นไปถึงข้างบนก็จะขอทิปอีกแม้ว่าเราจะซื้อน้ำอัดลมให้เขาแล้ว ถ้าไม่ให้ก็ไม่ยอมไป แบบว่าต้องเอาให้ได้ ตื้ออยู่นั่นแหละ จนเราทนรำคาญไม่ได้ก็ต้องควักให้ไปอีก คนละ 1000 จ๊าด เป็นค่าทิป ก็ยังดีไม่มากเท่าไร 1000 จ๊าด ก็ 30 บาท สี่คนก็ร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง ตัดปัญหาไป ดีกว่าที่มาเที่ยวแล้วมามีเรื่องกับคนท้องถิ่น ก็ไม่สนุกแล้วละครับ 

แต่มีคนบอกเคล็ดให้ที่จะจัดการเรื่องอย่างนี้ เพราะว่าส่วนใหญ่พวกนี้จะกลัวไกด์ หรือหัวหน้าทัวร์ ถ้าเรามีปัญหาอะไรเรารีบบอกเล่าให้หัวหน้าทัวร์หรือไกด์ของเราทราบ เขาจะจัดการให้เราเอง บางทีถ้าเราไม่ได้บอก เขาเห็นเองเขาจะเข้าไปถาม เรื่องซื้อน้ำหรือเรื่องทิป

พวกที่รับจ้างหามเสลี่ยงนี้เขาจะตอบูว่า ลูกค้าซื้อให้เขาเอง ลูกค้าให้ทิปเขาเองเพราะว่าเห็นเขาเหนื่อยมาก เขาไม่ได้เรียกร้องอะไร พอขากลับ เขาก็จะขอทิปเราอีกครั้งเหมือนเดิม..นี่แหละคือส่วนเล็กน้อยที่มีบนพระธาตุอินทร์แขวน ที่ผมพบมา รับรู้แล้วถ้าท่านได้ไปเที่ยวก็ไม่ต้องเครียดอะไรเลยนะครับ มาเล่าสู่กันฟังเท่าที่ผมได้เห็นมาครับ

alt

 

alt

ท่านที่นั่งนอนบนเสลี่ยงให้เขาหามนี้ เป็นนักท่องเที่ยวที่ไปกับพวกผม

 คนที่นั่งเสลี่ยงซึ่งเดินทางไปเที่ยวเดียวกับผมนั้น พูดกับผมและคนอื่นๆหลังจากลงจากเสลี่ยงแล้ว ว่า

"โธ่ผมนี่โง่จริงๆ ระยะทาง 200 เมตรเท่านั้น ไอ้เราก็ไม่รู้คิดว่าไกล เสียเงินเปล่าๆ รู้งี้เดินดีกว่า " แล้วก็หัวเราะดังลั่น

แต่คิดไปแล้วก็ดีแล้วที่แกนั่งเสลี่ยงไป มิฉะนั้นแกอาจจะขึ้นไม่ถึง และอาจจะเป็นลมพับตรงนั้นก่อนก็ได้ เพราะว่าแกอ้วนมากเหลือเกิน ผมคำนวณว่า คงเกิน 100 กก.อย่างแน่นอน

alt

เส้นทางเดินเท้าสู่พระธาตุอินทร์แขวนเมื่อลงจากรถที่ขนส่งพวกเรามาถึง เป็นถนนแบบคอนกรีตกว้างขวาง เดินแบบสบาย แต่ชันสักหน่อย พอเราเหนื่อยเราก็หยุดเป็นช่วงๆ สองข้างทางก็จะผ่านบ้านชาวบ้าน และร้านค้าขายของต่างๆโดยมากจะเป็นของกิน ของใช้ ของป่า และของพื้นเมือง เช่นสมุนไพรต่างๆเป็นต้น

alt

 และช่วงสุดท้ายก็จะเดิน โดยผ่านบ้านชาวบ้าน ระยะทางประมาณ200เมตร ก็จะถึงเชิงบันไดครับ

เมื่อถึงที่ตรงนี้ คือตรงประตูเมืองของเขา (ว่างั้นเถอะ) ทุกคนต้องถอดรองเท้าแล้วครับ สำหรับกรุ๊ปทัวร์ของผมนี้ ถ้าจะต้องต่างคนต่างหิ้วรองเท้าด้วยก็จะดูเกะกะ พิลึก เพราะว่าจะต้องเดินฝ่าฝูงชนไปอีกไกล และถ้าใครอยากไหว้พระธาตุเป็นรอบแรก ก็ต้องถือรองเท้าเอาไว้ตลอด จนกว่าจะเข้าโรงแรมที่พักนั่นแหละ

แล้วก็คิดดูนะ นอกจากจะหิ้วกระเป๋าและของพะรุงพะรังแล้ว ก็ยังต้องหิ้วรองเท้าอีก แล้วก็เดินเท้าเปล่า คนที่ไม่ค่อยได้เดินเท้าเปล่าจะเจ็บจะตายไป ระยะทางก็ไกลด้วย

เป็นหน้าที่ของไกด์อีกนั่นแหละ นายซายซาย มองดูพวกเราแล้ว เห็นท่าจะไม่ไหว ก็เลยขอปลีกตัวไปหาคนขนรองเท้าคนหนึ่งมาให้ (สงสัยจะเป็นคนของโรงแรม) ซึ่งเป็นผู้หญิงอายุยังไม่มากเท่าไร แกหิ้วตะกร้าใบใหญ่มีหูที่ขอบสองข้างมาด้วย ที่ต้องใหญ่หน่อย ก็เพราะว่ามีรองเท้าที่จะต้องใส่ลงไปตั้ง 26 คู่มันน้อยอยู่เมื่อไรล่ะครับคุณนาย

alt

ผมจะเล่าย้อนมานิด ก่อนที่จะขึ้นไปถึงองค์พระธาตุนั้น (ยังไม่ต้องถอดรองเท้า) จะมีอาคารให้เข้าไปไหว้สองจุดคือ ทางด้านขวา เป็นองค์พระธาตุจำลองเเละมีรอยพระพุทธบาทจำลองอีกด้วย

ที่ตรงนี้ (อาคารด้านขวามือ) จะมีผู้คนนิยมเอาธนบัตรมาลอยน้ำ เเล้ว อธิษฐาน ว่ากันว่าถ้าขอบธนบัตรถูกน้ำแล้วม้วนงอเข้าหากัน แสดงว่าคำอธิษฐานนั้นใกล้จะประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าธนบัตรยังอยู่เฉยๆก็แสดงว่ายังไม่ได้ผลที่อธิษฐานเอาไว้ จริงหรือเปล่าก็คิดดูเอานะครับ

ส่วนอาคารทางซ้าย คือ อาคารที่มีรูปปั้นของพระนางชเวนันจิน อยู่ข้างในนั้น ซึ่งพระนางชเวนันจินนี้ เป็นส่วนหนึ่งในตำนานของพระธาตุอินทร์แขวนด้วย

มีความเชื่อกันว่าหากเจ็บป่วยตรงส่วนไหนของร่างกาย เวลาไหว้พระนางก็ให้จับ บีบ นวดรูปปั้นพระนางตรงส่วนที่เจ็บป่วย แล้วตั้งจิตอธิษฐาน และมาจับร่างกายของเราตรงที่เจ็บป่วยก็จะหายได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

ทางฝั่งทางขวานั้น ที่บอกแล้วว่ามีรอยพระพุทธบาทจำลองและองค์พระธาตุจำลอง ขณะที่ผมเดินมาถึงที่ตรงนี้เห็นมีคนเข้าไปกราบไหว้เหมือนกัน แต่หลายๆคนจะแวะเข้าไปที่อาคารด้านซ้ายมือเสียเป็นส่วนมาก

alt

ข้างในอาคารด้านซ้ายมือนั้น เป็นห้องไม่กว้างขวางนัก มีสิ่งของเกี่ยวกับการบูชาเต็มแน่นไปหมด เขาทำหุ่นเป็นรูปคนผู้หญิงหน้าตาสวย นอนหงายอยู่ แต่งหน้าแต่งตา นุ่งห่มสวยงาม แล้วก็มีรูปปั้นเป็นผู้ชายใส่เสื้อผ้าหลากสี ที่ศรีษะโพกผ้าไว้ด้วยผ้าสี ลักษณะเหมือนกับผู้ที่มาดูแลคนป่วยยังไงยังงั้น นั่งอยู่ข้างๆ

ตามร่างกายของผู้หญิงที่เรียกกันว่า พระนางชเวนันจิน จะเห็นมีเงินต่างๆเป็นธนบัตร ใบละ 1,000 บ้าง ใบละ 500 ใบละ 100 ก็มี( เงินจาต ของพม่า) บ้าง และราคาอื่นๆอีกมากมายที่วางปะลงไปบนร่างของพระนาง นั่นคือการกราบไหว้ขอพร ให้พระนางช่วยรักษาอาการป่วยต่างๆของร่างกายให้หายจากการเจ็บป่วย

คนที่มาขอพรเจ็บป่วยตรงไหน ขัดยอกอย่างไร ก็เอาธนบัตรราคาเท่าไรก็ได้ มาวางไว้บนพระนางตรงนั้น แล้วกดเบาๆเหมือนจะบีบนวด เท่านี้แหละครับ ก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าจะได้ผลสมดังความประสงค์หรือเปล่า

เมื่อเสร็จจากตรงนี้แล้ว ก็เดินออกมาจากอาคารพระนาง ชเวนันจิน (มีตำนานเล่าเรื่องความเป็นมาของพระนางชเวนันจินนี้มากมาย ต้องเปิดกูเกิล ดูเอาครับ)

 เมื่อเดินออกมาแล้วผมถามแม่บ้านของผมว่า

 " คุณเอาแบ๊งค์แปะหัวเข่าเจ้าแม่หรือเปล่า เพราะว่าหัวเข่าของคุณไม่ค่อยดีมานานแล้วนี่"

 "แปะเล้วค่ะ "

 "แล้วดีขึ้นไม๊ " ผมถามอีก

 "ยังหรอกตอนนี้เหมือนเดิม เจ้าแม่ที่ไหนจะมาทำให้เราดีขึ้นรวดเร็วขนาดน๊านนนนนนน "

ทีนี้ก็จะเข้าประตูใหญ่ของพระธาตุอินทร์แขวนจริงๆแล้ว นับจากนี้ไปก็ต้องถอดรองเท้า เดินด้วยเท้าเปล่ากันแล้วละครับ ประตูใหญ่ มีสิงห์ตัวใหญ่เฝ้าข้างละตัว อยู่ข้างหน้านี้เองครับ

พวกเราเดินขึ้นบันใดมาร่วมกลุ่มกันที่หน้าประตูทางเข้าพระธาตุ กันอีกครั้งหนึ่ง เราทุกคนถอดรองเท้าที่ใส่มาให้กับคนที่มาเก็บรองเท้า ซึ่งเขาจะเอาไปไว้ที่ล๊อบบี้โรงแรมก่อน แล้วพวกเราก็จะตามไปเอาทีหลัง

เมื่อเราเดินมาที่ลานพระธาตุอินทร์แขวนแล้วในตอนนี้ โดยที่ยังไม่ได้ไปถึงโรงแรมที่พัก ก็จะถือโอกาสตรงเข้าไปที่พระธาตุ ซึ่งมองเห็นไกลๆนั่น ซึ่งเรียกว่าเป็นการกราบไหว้พระธาตุรอบแรกเมื่อมาถึง

alt

คนส่วนใหญ่ที่ได้มาเที่ยวที่นี่ก็หมายมั่นว่า กว่าจะกลับลงเขาไป จะต้องไหว้พระธาตุให้มากที่สุด บางคนที่มากับผมเที่ยวนี้กะว่า จะไหว้สัก 7 รอบสำหรับผมหรือคนอื่นๆบางคนนั้นไม่ได้โลภมากถึงขนาดนั้น ก็จะทำตามที่ไก๊ด์ ซายซาย บอก คือว่าจะมาไหว้เพียงสามรอบกำลังดี

รอบที่ 1 เพิ่งมาถึง ยังไม่ได้เข้าที่พักเลย ก็ถือโอกาสซื้อดอกไม้ธูปเทียน มาปิดทองหินก้อนโตที่มีพระธาตุอยู่บนนั้นก่อน

รอบที่ 2 เมื่อเราเข้าโรงแรมที่พักเรียบร้อยแล้ว ทานอาหารเย็นที่ห้องอาหารของโรงแรมแล้ว ประมาณ 6 โมงเย็นกว่าๆ ก็ขึ้นมาไหว้อีกหนึ่งรอบ (โรงแรมอยู่ต่ำกว่า ลานพระธาตุมากพอสมควร) รอบนี้ไม่ต้องรีบ เพราะบางคน จะนั่งวิปัสนาอยู่ที่ลานพระธาตุทั้งคืนก็ได้

รอบที่ 3 ในตอนรุ่งเช้าขากลับ ออกจากที่พัก แล้วไปไหว้พระธาตุอีกครั้ง แล้วก็เดินทางกลับ

นี่แหละครับที่ผมคิดเอาไว้ ซึ่งคิดว่าพอสมควรแล้ว

ขณะที่พวกผมมาถึงพระธาตุนั้นเวลาประมาณ 4 โมงเย็นแล้ว ที่่พื้นบริเวณลานกว้างยังอุ่นๆอยู่คือไม้ร้อนมากเหมือนตอนกลางวัน  แต่ก็เรียกว่าพวกผมมาถึงเร็วพอสมควร ถึงอย่างไรก็มีคนมาก่อนหน้านี้แล้วเดินกันขวักไขว่ อยู่ที่บริเวณลานปูนซิเมนต์ที่กว้างขวาง

นายซายซาย ผู้เป็นไกด์ที่คอยดูแลพวกเราอยู่บอกว่า ในตอนแรกนี้จะให้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น แล้วมารวมตัวกันที่ เสาใหญ่ต้นหนึ่ง นายซายซาย ไกด์ ชี้ขึ้นไปที่ยอดเสา ซึ่งมี หงส์ อยู่บนยอดเสาตัวหนึ่งสังเกตได้ง่าย

เขาให้เวลาเราไม่มากนัก เพราะว่าทุกคนเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ก็ยังเดินชมสถานที่ เห็นยอดของพระธาตุอินแขวนเหลืองอร่าม เมื่อเดินชมสถานที่กันเสร็จแล้วเราจะไปที่พัก เพื่อเข้าพักผ่อน อาบน้ำ เปลี่ยนชุดใหม่ แล้ว 6 โมงเย็นไปพบกันที่ห้องอาหารของโรงแรม ตามที่นาย ซาย ซาย ไกด์ของเรานัดหมายเอาไว้

นายซาย ซาย นัดหมายในเวลา 6 โมงเย็น และเมื่อทุกคนเข้าใจกันดีแล้ว ก็แยกย้ายกันไป ตามแต่จะสะดวก ผมกับแม่บ้านและคนที่ไปด้วยกันอีกสองคนก็เดินตามกันไปไหว้พระธาตุ เป็นรอบที่ 1 เป็นที่สำเร็จเรียบร้อย

อากาศชักจะเย็นลงทุกที และใกล้เวลา 16.30 น.แล้ว (เวลาพม่าช้ากว่าไทย 30 นาที) ทุกคนมาเจอกันที่เสาที่มีพญาหงษ์ตามที่ไกด์บอกไว้แต่แรก เมื่อทุกคนมารวมกลุ่มกันครบแล้ว ก็เดินตามไก๊ด์เป็นแถว เพื่อไปที่โรงแรมต่อไป.

 

alt

 นายแก้ว ผู้เขียน ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๙

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้812
เมื่อวานนี้746
สัปดาห์นี้3173
เดือนนี้9431
ทั้งหมด1328765

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

2
Online