ป้าม่อมและงานแห่ดอกไม้

เทศกาลกันทีก็สนุกสนานกัน เฮฮากันไปตามประสาชนบท
คนเก่าคนแก่เจ็ดเสมียนของแท้ ภาพนี้แต่งตัวชุดนี้ อยู่ในเรื่องนี้จริงๆ

จากซ้ายป้าแหลว ป้าม่อม ป้าหละ ป้าคำ ป้ามั่น (ยังมีชีวิตอยู่คนเดียว)

       ป้าม่อม แกเป็นคนมีอารมณ์ดีอยู่เสมอ ใครที่ได้คุยกับแกแล้ว บางครั้งก็อดขำไม่ได้ เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็กอยู่และได้เห็นแกนั้น ในตัวของแก และในเรื่องภายในครอบครัวของแก ผมก็ไม่ทราบว่า จะมีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรบ้างหรือไม่

        แต่ทั่วๆไปนั้นผมก็เห็นแกคุยกับใครๆ แบบตลกโปกฮาอยู่เสมอ โดยมากแกมักจะมาคุยกับนังหละ (ป้าม่อมแกเรียกแม่ผมอย่างนี้) ดูท่าทางว่าจะสนิทสนมกับแม่ของผมเป็นพิเศษ

        เวลาออกมาขายปูน (กินกับหมากที่แกผลิตเอง) ในวันที่มีตลาดนัดนั้น สินค้าของแกคือปูนกินกับหมากนั่นแหละ แกขายได้หมดเร็วมากตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่สางเลย คงจะเป็นเพราะเหตุว่าลูกค้าประจำของแกมีมาก ปูนกินกับหมากนี้ก็มีเจ้าเดียวในตำบลเจ็ดเสมียน และอาจจะเจ้าเดียวในตำบลใกล้เคียงด้วย ไม่มีใครทำขายเลย

        เพราะฉะนั้นปูนของแกจึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เหมือนกับการผูกขาดการขายเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ในตอนเช้ามืดของวันที่มีตลาดนัด ป้าม่อมแกก็จะหาบกระจาดลูกใหญ่พะรุงพะรังมาจากบ้าน

        ข้างหนึ่งของกระจาดที่แกหาบมาแกใส่กะละมังใส่ปูนใบใหญ่ มีปูนสีแดงเรื่อๆไม่ถึงกับแดงจัดอยู่พูนกะละมัง ส่วนกระจาดอีกข้างหนึ่งนั้น ก็เป็นปูนที่แกแบ่งแล้วก็ห่อด้วยใบตอง เป็นห่อเล็กๆที่ห่อมาจากบ้านแล้วเต็มกระจาด ในเวลานั้นถุงพลาสติกยังไม่มีใช้กันอย่างแพร่หลายเหมือนในสมัยนี้

        บางทีบางครั้งที่ป้าม่อมมาขายปูนที่ตลาดนัด ผมก็เห็นนายแดงมากับแม่ของเขาด้วย นายแดงเป็นลูกคนเล็กของป้าม่อม และเป็นน้องของเจ๊จรัส ดังที่ผมเคยบอกในเรื่องก่อนหน้านี้แล้ว นายแดงนี้ถ้าอายุไม่เท่าผม ก็คงจะอ่อนกว่าผมนิดหน่อยเท่านั้น

        นายแดงไม่ค่อยมาเล่นกับพวกเด็กตลาด ทั้งๆที่ป้าม่อมแม่ของเขาก็มาที่ตลาดแทบทุกวัน กับพวกผมซึ่งเป็นเด็กตลาด จึงไม่ค่อยสนิทกันเท่าไรนัก แต่ก็รู้จักกันว่าใครเป็นใคร

(เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ไปพบนายแดงที่บ้านของเขา (คือตรงบ้านเก่าที่ป้าม่อมเคยอยู่) มาพบกันเมื่ออายุมากแล้วแต่ก็ยังจำกันได้ และคุยกันอย่างสนุกสนาน)

        เนื่องจากป้าม่อมแกเป็นคนมีอารมณ์ดี เวลามีงานเทศกาลต่างๆ เช่นในวันขึ้นปีใหม่ หรือ วันสงกรานต์ ที่เจ็ดเสมียนนี้ กำนันโกวิท กำนันประจำตำบลเจ็ดเสมียนก็จะจัดงานใหญ่ ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกๆปี และก็ได้รับความร่วมมือร่วมใจสามัคคีกันช่วยกันจัดงานต่างๆเหล่านี้ ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกครั้ง

        เมื่อมีงานเทศกาลต่างๆเหล่านี้ ป้าม่อมแกก็จะสนุกของแกเต็มที่ พร้อมๆกับคนในตลาดที่เป็นคนที่สนิทสนมกัน เช่น นางหละแม่ของผม ป้าแจ่มขายขนมจีน และคนในตลาดอีกหลายคน ก็จะแต่งตัวกันอย่างสวยงาม เวลาหมู่บ้านต่างๆเขาเดินขบวนแห่ดอกไม้ เพื่อมารวมตัวกันที่สนามหน้าโรงเรียน วัดเจ็ดเสมียน กลุ่มของป้าม่อมก็จะมาร่วมวงเป็นนางรำหน้าขบวนของหมู่ที่ ๓ หรือของชุมชนตลาดในกันอย่างสนุก

        ในวันนั้นก็จะปล่อยกันเต็มที่ เหล้าขาวจากร้านของเฮียแก่เล็ก ถูกส่งต่อๆกันมาให้นางรำหน้าขบวนเติมกันอยู่เรื่อยๆ เพื่อความสนุกและความอึดทนในการรำ แดดร้อนๆในตอนบ่ายเดือนเมษายนมันร้อนจัด แต่นางรำเหล่านี้ก็ไม่กลัวความร้อนและความเหนื่อยเลย เพราะว่าได้เหล้าขาวนี่เองเป็นตัวชูกำลัง

        ขอพาท่านผู้อ่านย้อนเข้าไป ในวันเทศกาลแห่ดอกไม้นั้นนิดหนึ่งก่อน ขบวนแห่ดอกไม้ และขบวนแต่งแฟนซีของหมู่ ๓ และหมู่ ๒ นัดไปรวมตัวกัน เพื่อตั้งต้นกันที่บ้านกำนันโกวิทที่ตลาดนอก บ้านของท่านกำนันโกวิทนั้นได้ย้ายจากตลาดใน ไปปลูกบ้านใหม่เลยตลาดนอกไปหน่อยนานมาแล้ว

ขบวนแห่และขบวนแฟนซีต่างก็มาเริ่มต้นกันที่บ้านกำนันโกวิท
ใครบ้างพอจะจำได้ไหม คนที่สูบบุหรี่อยู่ข้างหลังนั้นคือ น้าทรัพย์

        ขบวนแห่ดอกไม้และแต่งแฟนซีในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมกันมากมาย โดยเฉพาะพวกลูกกำนัน เช่นนายเล็ก นายนิด นายศักดา นายณรงค์ พร้อมด้วยชาวบ้านอีกหลายคนช่วยกันออกหัวคิดในการแห่ดอกไม้ในเทศกาลนี้

 

เจ๊ตังกวย พร้อมด้วยญาติมิตร ขอบอกว่าคนนั่งข้างเจ๊กวยด้านขวาคือเจ๊ไล้ ?

        นอกจากนั้นก็ยังมีสาวๆอีกหลายคนที่แต่งตัวสวยๆ มาเดินในขบวนด้วย เรียกว่ามาประชันโฉมกันเลยทีเดียว หญิงสาวในตลาดก็มากันหลายคนแล้วแต่เป็นรุ่นพี่ๆของผมทั้งนั้น เช่นเจ๊ประนอม เจ๊น้อมหลังตลาด เจ๊แดง เจ๊แด๊ว เจ๊กัญญา เจ๊องุ่น เจ๊ยุพา น้องสาวของเจ๊กวย ส่วนตัวเจ๊กวยเองก็ไม่ต้องห่วง แต่งตัวชุดไทยเดิมเสียสวยพริ้ง อยู่ในกลุ่มรุ่นของเจ๊กวยแกเองกลุ่มใหญ่

พี่องุ่น เจ๊ประนอม

เจ๊แดง เจ๊แด๊ว

        เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วผู้จัดการขบวนก็เริ่มให้สัญญาณเดินขบวน วงแตรวง วงกลองยาวก็เริ่มต้นประชันเสียงกันสนั่นหวั่นไหว ขบวนยาวเหยียด ต้นขบวนจะถึงตลาดนอกแล้วท้ายขบวนยังไม่ออกจากบ้านกำนันเลย หัวขบวนนั้นนายรำและนางรำต่างก็ออกท่ารำเต้นกันสุดเหวี่ยง


        เสียงนักร้องนำและเสียงกลองชุดที่ติดตั้งมากับรถสาลี่มีคนเข็น (เป็นวงดนตรีย่อยๆของพี่สนั่น บ้านและสำนักงานดนตรีอยู่ที่หัวหนอง) ตีจังหวะกันน่าเต้นยิ่งนัก บางครั้งเมื่อนางรำเหนื่อยจัดกันขึ้นมาก็มาตีจังหวะช้าๆเป็นจังหวะบีกิน เพื่อชะลอความเหนื่อยลงมาบ้าง

       

นักร้องที่เดินตามร้องเพลงอยู่หลังรถสาลี่บรรทุกเครื่องเสียง ร้องเพลงเขย่าลูกคอจังหวะบีกินระบายความเหนื่อยของนักเต้นเสียงแจ้วๆ “มาลัยพวงงามฝีมือใครทำช่างงามยิ่งนัก” แตรวงก็รับเมื่อนักร้องๆท่อนนี้จบแล้วนักร้องก็โก่งคอร้องต่อไปอีก “มาลัยดอกรักคล้องคอคนยากล้นเอ่อ มองแล้วจ้องตาฉันรอยสัมพันธ์พร่ำเพ้อ รับมาจากมือเธอได้แต่ชะเง้อเมียงมอง.............. ” แล้วดนตรีก็รับจนหมดเพลง

        บางครั้งก็เล่นเพลงมันๆ แบบ ๓ ช่า “แว่วเสียงย่ำกลองวัดโบสถ์ พี่ปลูกข้าวโพดสาลี ลูกเขยเมื่อมันตกยาก แม่ยายก็พรากลูกสาวเสียนี่ แม่ยายนะแม่ยายหนอไม่ตายจะขอดูหน้าที ปีนี้จนทั้งปี ปีหน้าคงจะมีเงินบ้างนะแม่จ๋า” แตรวงก็รับกันอย่างพร้อมเพรียง กลองชุดก็เล่นแบบไม่ยั้ง นักเต้นก็เต้นกันแบบสุดฤทธิ์

 

กองเชียร์มีลักษณะอย่างนี้ ภาพจาก mmm-areus.com

        นี่เป็นตอนหัวขบวน ส่วนตรงกลางขบวนนั้นเล่ามีพวกแต่งแฟนซีแปลกๆ อยากเป็นอะไรก็แต่งกันเข้าไป วันนี้ยกให้กันเต็มที่ คงไม่มีใครเขามาว่าบ้าหรอก ถัดไปสาวๆเดินกันมาเป็นแถวดาหน้ากันมาเต็มถนน แต่งกายกันอย่างสวยงาม ในจำนวนนี้ก็มีสาวๆแห่งตลาดเจ็ดเสมียนที่ได้เอ่ยชื่อและไม่ได้เอ่ยชื่อเดินกันมาเป็นกลุ่มใหญ่

        ปิดท้ายขบวนด้วยกล้องถ่ายทอดออกโทรทัศน์ (ปลอม) ตั้งอยู่บนรถสาลี่มี นายยุทธนา วงศ์ยะรา กำลังมองที่ช่องมองภาพถ่ายทอดสดอยู่ ส่วนศักดา วงศ์ยะรา ก็ถือไมค์ (ปลอม) กำลังบรรยายบรรยากาศของงานที่กำลังถ่ายทอดสดอยู่ (ถ่ายปลอม) ดูแล้วก็ตื่นเต้นและสนุกดีทีเดียว

        จากบ้านกำนันมาถึงสนามหน้าโรงเรียน ระยะทางก็ไม่กี่ร้อยเมตร แต่ขบวนของหมู่ ๓ กว่าจะมาเข้าสนามที่หน้าโรงเรียนได้ก็ใช้เวลานานมากทีเดียว ที่สนามหน้าโรงเรียนนั้นมีขบวนแห่จากหมู่อื่นๆมารอกันบ้างแล้ว เช่นบ้านดอนไม้เรียง ชุมชนพงสวาย ชุมชนบ้านกาะ มากันเรียบร้อยแล้ว เหลืออีกไม่กี่หมู่บ้านเท่านั้นก็จะครบหมด แล้วท่านกำนันและกรรมการจะได้ประกาศผู้ชนะเลิศ ในการประกวดครั้งนี้แล้วแต่ประเภทไป

สนามหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน สถานที่จัดงานแห่ดอกไม้ในอดีตกันทุกๆปี

        แม้จะมาถึงสนามหญ้าหน้าโรงเรียนแล้ว กองเชียร์และแตรวงก็ยังไม่หยุดบรรเลง นางรำที่แต่ละคนแต่งตัวเสียสวยพริ้งจำแทบไม่ได้ มีป้าม่อมรำแต้เหงื่อหน้าผากไหลย้อยอยู่ พร้อมด้วยพรรคพวกกำลังรำกันอย่างสุดเหวี่ยง มีน้ามั่นเมียตาชุ่ม นางหละ แม่ของผม ป้าแจ่ม ขายขนมจีน ป้าแหลว และอีกหลายคน มีคนรำที่เป็นผู้ชายถือขวดเหล้าขาวรำแต้ มาคอยบริการเติมน้ำมันถึงที่ไม่ขาดระยะ จนกระทั่งนางรำแต่ละคนหน้าแดงก่ำ แทบยืนไม่อยู่แล้วเพราะฤทธิ์เหล้า

        ตอนบ่ายวันนั้นอากาศในเดือนเมษายน ไม่ร้อนเท่าไร เพราะมีเมฆครึ้ม ฝนทำท่าจะตกด้วย แต่พวกนางรำที่รำนำขบวนแห่ดอกไม้ ของหมู่ ๓ ก็ดูเหมือนว่าจะเหนื่อยเต็มที่ ฤทธิ์ของเหล้าขาวที่แจกกันกินก่อนหน้านี้ทำให้พวกนางรำ ก็ยังมีฤทธิ์รำกันได้อยู่แต่ก็อ่อนแรงคลายความคึกคักลงไปมาก

        เมื่อขบวนแห่เข้าที่กันที่สนามหน้าโรงเรียนแล้ว เสียงกลองยาว แตรวง และฉิ่งฉาบก็ดังประสานงากันมั่วไปหมด หูของผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นแทบจะระเบิด เสร็จแล้ว เมื่อนายจำเนียร คุ้มประวัติ โฆษกอันดับ ๑ ของตำบลเจ็ดเสมียน พูดทางไมโครโฟนส์ออกลำโพง มาว่า ต่อจากนี้ไปจะเป็นการตัดสิน ว่าขบวนแห่ของหมู่ไหน จะได้ที่ ๑ ที่ ๒ เสียงผู้คนและเสียงมโหรีต่างๆจึงเงียบเสียงลง คอยฟังคำประกาศคำตัดสินจากกำนันโกวิทเป็นเด็ดขาดแต่ผู้เดียว

        อีกส่วนหนึ่งของสนามหน้าโรงเรียนนั้น กำนันโกวิทและคณะกรรมการในการจัดงานครั้งนี้ ก็จัดให้มีการละเล่นและแข่งกีฬาต่างๆระหว่างชุมชนกัน เช่น ชักกะเย่อ ตี่จับ วิ่งเร็ว วิ่งเปี้ยว ที่สำคัญมีการชกมวยไทยเพื่อโชว์ศิลปะมวยไทยด้วย การแข่งขันกีฬาและชกมวยไทยโชว์นี้ กำนันโกวิทแกสนับสนุนเต็ม ร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว

        เพราะว่ากำนันโกวิทเมื่อสมัยที่แกเป็นครู ที่โรงเรียนเจ็ดเสมียนและยังหนุ่มแน่นนั้น แกเคยชกมวย และเล่นกีฬาต่างๆจนได้ถ้วยมาตั้งไว้ที่โรงเรียนเต็มห้อง

        เมื่อขบวนแห่ดอกไม้ทั้งหมดทุกชุมชนมาถึงที่สนามหน้าโรงเรียนกันหมดแล้ว แล้ว การแข่งขันกีฬาต่างๆเพื่อความครึกครื้นก็เริ่มต้นขึ้น ชุมชนต่างๆก็ส่งนักกีฬาของตัวที่ได้คัดตัวและซ้อมไว้แล้วลงแข่งทันที ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความครึกครื้น เสียงเชียร์คนของตัวเองดังกันลั่นไปหมด

         ที่แข่งกันเสร็จแล้ว และได้ประกาศตัวประกาศทีมผู้ชนะแล้ว ก็เป็นกีฬาพวกที่แข่งกันง่ายๆ เช่นวิ่งเปี้ยว ชักกะเย่อ และกีฬาพื้นบ้านอีกหลายอย่าง ที่ยังแข่งกันไม่เสร็จก็มีบ้าง เช่นวิ่งเร็ว ๑๐๐ เมตร สนามที่วิ่งนั้นผู้จัดการแข่งขันถึงกับเอาปูนขาวมาโรย ให้เป็นเส้นเหมือนกับเป็นลู่วิ่งของนักกีฬา ตั้งแต่หน้าเรือนหุ่นราษฎร์บำรุง ตรงมาเกือบสุดสนามหญ้าเกือบถึงหน้าศาลา

        วิ่งเร็ว ๑๐๐ เมตรนั้น มีรางวัลล่อใจเป็นเงินสด และถ้วยรางวัลด้วยถ้าใครเป็นผู้ที่ชนะเลิศละก็รับไปเลย การแข่งขันวิ่ง ๑๐๐ เมตรนั้นต้องวิ่งกันหลายรอบ เพราะว่ามีผู้สนใจวิ่งกันมาก แต่ละรอบนั้นคณะกรรมการจะเอาคนที่วิ่งได้เร็วที่สุดในรอบนั้นเพียงคนเดียวเท่านั้นเพื่อเป็นการรวบรัด เอามาแข่งกับผู้ชนะกลุ่มอื่นอีกทีหนึ่ง

        ตัวเก็งในการวิ่ง ๑๐๐ เมตรในครั้งนี้ก็คือ นายจตุรงค์ วงศ์ยะรา (เฮียตี๋) บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของกำนันโกวิทนั่นเอง นายจตุรงค์ คนนี้ก็นับว่ามีนิสัยและชอบการกีฬาเป็นอันมาก เมื่อสมัยเรียนหนังสือที่โรงเรียนช่างกลปทุมวันนั้นก็เข้าค่าย ฟิตร่างกายที่ค่ายพูนศักดิ์ยิม เพาะกล้ามจนมีร่างกายที่สวยงาม เคยเข้าประกวดชายงามมาแล้วด้วย

        และก็เป็นดังที่คาดคิด นายจตุรงค์ ก็วิ่งเข้าที่ ๑ ในสายของเขาเหมือนกัน จึงได้ถูกจัดให้เข้าวิ่งแข่งในรอบชิงชนะเลิศในรอบสุดท้ายด้วย แล้วรอบสุดท้ายก็มาถึง นายจตุรงค์ของเรามีความมั่นใจในตัวเองอย่างเต็มที่ว่าต้องพิชิตชัยชนะได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร

        ในตอนนี้เป็นนาทีที่น่าตื่นเต้น นักกีฬาวิ่งเร็ว ๕ คนสุดท้ายเข้าที่แล้ว ท่ามกลางคนดูที่เงียบกริบ กรรมการที่ยืนกำกับจุดปล่อยตัวก็ พูดขึ้นมาดังๆว่า เตรียมตัว ระวัง แล้วเสียงนกหวีดก็ดังปรี๊ดขึ้น นักวิ่งเร็วทั้ง ๕ คนต่างก็ทะยานออกจากจุดปล่อยตัว ราวกับจรวด ออกตัวในตอนแรกนั้น นายจตุรงค์ของเราได้จังหวะออกพรวดนำหน้าใน ๑๐ เมตรแรก ท่ามกลางเสียงเชียร์ ของผู้ชมอย่างถึงใจ

        ได้ครึ่งทางแล้ว นายจตุรงค์ของเราก็ยังนำอยู่ แกชายตาเหลียวไปมองข้างหลัง เห็นผู้ที่ตามมายังห่างอยู่ก็สบายใจ แต่เท้านั้นก็เร่งเต็มที่คิดว่าถึงอย่างไร ก็เข้าที่ ๑ ชนะเลิศแน่นอน ใครจะมีปัญญามาแซงเราได้.....?

แล้วสิ่งที่นายจตุรงค์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น สิ่งนั้นคืออะไร โปรดติดตาม   (คลิ๊ก ) เทศกาลของคนเจ็ดเสมียนในอดีต  ได้เลยครับ

www.chetsamian.org  ขอสงวนลิขสิทธิ์ข้อมูลและรูปภาพบนเว็บไซต์ทั้งหมด โดยไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ ทำซ้ำ แก้ไข หรือ ดัดแปลง ไม่ว่าจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด หากท่านใดต้องการข้อมูลบนเว็บไซต์ www.chetsamian.org กรุณาติดต่อ นายแก้ว โดยส่ง email ไปที่    เพื่อขออนุญาติเสียก่อน เนื่องจากข้อมูลและรูปภาพบางเรื่องและบางชิ้น เป็นของท่านผู้เขียนและท่านสมาชิกที่ได้เขียนเรื่องต่างๆ และให้ขอยืมภาพต่างๆมาลงไว้ ซึ่งทางผู้จัดทำเว็บไซต์จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากทางเจ้าของผลงานก่อนทุกครั้ง จึงเรียนมาเพื่อทราบ. This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

บทความล่าสุด

จำนวนผู้เยี่ยมชม

วันนี้744
เมื่อวานนี้594
สัปดาห์นี้2359
เดือนนี้8617
ทั้งหมด1327951

ผู้เยี่ยมชมในขณะนี้

3
Online